วันอังคารที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

แนวคิดด้าน Kaizen Improvement ในขบวนการผลิต

บทความที่ 1 : บทนำ
    
    สวัสดีครับ สำหรับบทความแรกที่ผมจะเขียนต่อไปนี้ จะเป็นบทความเกี่ยวกับมุมมองภาพรวมของการทำ Kaizen ในขบวนการผลิต ซึ่งมาจากประสบการณ์การเรียนรู้ และปฏิบัติจริงร่วมกับสุดยอดปรมาจารย์ท่านหนึ่ง (ขออนุญาติไม่ขอเอ่ยนามท่านนะครับ) ท่านเป็นชาวญี่ปุ่น ซึ่งท่านมีประสบการณ์ในการทำงานมามากกว่า 40 ปี และยังเคยดำรงตำแหน่งประธานของบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งด้วย แต่ว่าปัจจุบัน ท่านได้เกษียณอายุงานไปแล้ว ถึงกระนั้น ท่านก็ยังมีแรงที่จะมาสอนสิ่งที่ดีๆ ให้กับทีมงานผมอยู่ ที่ไม่มีสอนในตำราเรียน หรือเรียกได้ว่าเป็นการทำ Kaizen ขั้นเทพก็ว่าได้ ทำไมถึงเรียกว่าขั้นเทพ เดี๋ยวเราก็จะได้รู้กันต่อไปนับจากนี้ครับ
    สำหรับผม จบการศึกษาระดับปริญญาตรีวิศกรรมศาสตร์  สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า และมีประสบการณ์ในการทำงานด้านการวิเคราะห์และปรับปรุงแก้ไขปัญหากระบวนการผลิตมากว่า 10 ปี ปัจจุบันยืนอยู่ในตำแหน่ง Assistant Section Manager ประจำแผนก Process Engineer ของบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งในบรรดาลูกน้องของผมหลายคน จบสายตรงมา นั่นก็คือ ปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์สาขาอุตสาหการ ซึ่งผมก็มักจะถามน้องๆ อยู่เสมอว่า หลักการที่อาจารย์ท่านสอนแบบนี้ เราเคยได้เรียนมาหรือเปล่า ซึ่งทุกคนก็จะตอบว่า ถ้าเป็นรายละเอียดเกี่ยวกับเครื่องไม้เครื่องมือ ที่ช่วยในการวิเคราะห์และหาสาเหตุ จะมีสอนในบทเรียน แต่ว่าถ้าเป็นในเรื่องของแนวคิดแบบนี้ ทุกคนยังไม่เคยเจอ ดังนั้น จากย่อหน้าแรก ผมจึงบอกว่าไม่มีสอนในตำราเรียน หรือก็อาจจะมีอาจารย์บางท่านที่มีแนวคิดดีๆ เสริมให้กับนักศึกษา นอกเหนือจากบทเรียน ก็ถือว่าเป็นกำไรอย่างยิ่งสำหรับนักศึกษาครับ 
    เอาหล่ะ...ก่อนที่จะเข้าเนื้อหา ผมก็ขออวยพรก่อนเลยครับ ขอให้ทุกท่าน ที่กำลังคิดจะทำ Kaizen ในกระบวนการผลิตอยู่ ก็ขอให้ประสบความสำเร็จ จากการนำแนวคิดที่ผมจะนำเสนอนี้ไปใช้นะครับ ส่วนท่านใดที่กำลังหางานอยู่ ผมขอบอกไว้เลยครับว่า ท่านได้งานทำแน่นอน หากท่านนำแนวคิดนี้ไปนำเสนอในเชิงการแสดงวิสัยทัศน์ ในขั้นตอนการสัมภาษณ์ ซึ่งก็มีหลายคนที่ใช้ได้ผล และก็ชิ่งไปจากบริษัทแล้ว
    เกริ่นมาซะนาน เดี๋ยวเรามาเข้าเรื่องกันเลยดีกว่าครับ ก่อนอื่นเลย วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของคำว่า “KAIZEN” กันก่อนเลยครับ จากนั้นผมก็จะอธิบายแนวคิดและหลักการเป็นลำดับๆ ไป ตามหัวข้อด้านล่าง
1. Kaizen คือะไร
 Kaizen มาจากภาษาญี่ปุ่น ถ้าเป็นภาษาอังกฤษนั่นก็คือคำว่า Improvement นั่นเอง และถ้าแปลเป็นภาษาไทย ก็จะแปลได้ว่า กิจกรรมการปรับปรุง หรือ Kaizen activity ครับ
2. ทำไมต้องทำ Kaizen
    เราต้องพึงระลึกอยู่เสมอว่า สินค้าที่เราผลิตอยู่ ไม่ได้มีเจ้าเดียวในโลกคือของเรา แต่เรามีคู่แข่งเยอะแยะหลายบริษัทในโลกใบนี้ ดังนั้นเราจึงต้องการการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และไม่หยุดยั้ง เพื่อที่จะเอาชนะคู่แข่งขันให้ได้นั่นเอง ซึ่งผมจะขอยกตัวอย่างดังกราฟด้านล่างนะครับ ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากเราไม่มีการทำ Kaizen 

                                           รูปที่ 1


    จากรูปกราฟด้านบน สมมุติว่าเราคือบริษัท A และคู่แข่งของเราคือบริษัท B และ C ซึ่งในปัจจุบัน เรายังเหนือกว่าคู่แข่งอยู่ แต่ว่าถ้าในอนาคต เรายังไม่เพิ่มระดับของการทำ Kaizen ในทางกลับกัน ถ้าคู่แข่งของเราเขามีการทำ Kaizen อย่างเข้มงวด บริษัท B ก็จะชนะเราภายในปี 2013 และบริษัท C ที่อยู่ในระดับต่ำสุดในปัจจุบัน ก็จะชนะเราในปี 2014 และจะชนะทุกบริษัทในปี 2016 เพราะความมุ่งมั่นและเพิ่มระดับของการทำ Kaizen อย่างต่อเนื่องของเขานั่นเองครับ ต่อไปมาดูกันอีก 2 กราฟตัวอย่างด้านล่างครับ 


รูปที่ 2 



รูปที่ 3 

    จากรูปกราฟที่ 2 จะเห็นว่า หากเราไม่มีการทำ Kaizen โดยการลด Cost จากการผลิตเลย แต่ว่าลูกค้าก็จะมาขอลดราคาของเราลงทุกปี ดังนั้น นับจากปี 2014 เป็นต้นไป เราจะขาดทุนตลอดครับ ส่วนรูปกราฟที่ 3 จะแสดงให้เห็นว่า ถึงแม้ว่าลูกค้าจะมาขอลดราคาของเราลงทุกปี แต่เราก็ยังมีการทำ Kaizen เพื่อลด Cost อยู่ทุกปีเช่นเดียวกัน เราก็จะยังคงมีกำไรทุกปีๆ ครับ ส่วนเหตุผลที่ลูกค้ามาขอลดราคาของเรา นั่นก็เพราะเรามีคู่แข่งนั่นเองครับ และวิธีการลด Cost ต้องทำอย่างไรบ้าง จะต้องพูดกันอีกยาวครับ ผมขออธิบายในบทความต่อๆ ไป ก็แล้วกันนะครับ 
    ครับ ก็คงพอจะมองเห็นภาพกันแล้วนะครับ ว่าทำไมเราจึงต้อง “ทำ KAIZEN”

3. ภาพรวมของกระบวนการผลิตมีอะไรบ้าง 
    ผมจะขอเรียกว่าไดอะแกรมนะครับ ไม่รู้ว่าถูกหรือเปล่า แต่ที่ผมออกข้อสอบ เพื่อรับลูกน้องใหม่ ส่วนใหญ่จะตอบไม่ได้กันครับ มาดูเลยดีกว่าว่าหน้าตาของ Process diagram ที่ผมเรียก เป็นอย่างไร 

รูปที่ 4

เห็นภาพกันแล้วใช่ไหมครับ จุดที่สำคัญที่สุดของ Process diagram อยู่ตรงไหน มีใครตอบได้บ้างครับ เดี๋ยวเรามาเฉลยกัน ในบทความหน้าครับ และที่ว่าสำคัญ สำคัญอย่างไร ให้อดใจรอนะครับ


เอาหล่ะ...สำหรับวันนี้เอาแค่ 3 ข้อนี้ก่อนนะครับ เดี๋ยวบทความหน้าค่อยมาว่ากันต่ออีกครับ สวัสดีครับ